ขอบคุณบทความและภาพประกอบจาก : Urban Creature
อ่านบทความต้นฉบับได้ที่
เมื่อจุฬาฯ สวมบทบาทเป็น ‘ผู้สร้างเมือง’
หลายคนคงเคยเล่นเกมสร้างเมืองยอดฮิต อย่าง ซิมซิตี้ (SimCity) หรือ ซิตี้: สกายไลน์ (Cities: Skylines) เกมที่ให้ผู้เล่นทดลองเป็นผู้นำเข้าไปบริหารบ้านเมืองของตนเอง เริ่มตั้งแต่การวางผังเมือง วางระบบสาธารณูปโภคและระบบขนส่งสาธารณะให้ทั่วถึงและครอบคลุมทั้งเมือง รวมไปถึงต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้จ่ายในด้านต่างๆ ตลอดจนสามารถกำหนดกฎหมายและนโยบายได้เองอีกด้วย
และจากที่เคยคิดว่าการสร้างเมืองมีแต่ในเกมเท่านั้น จนเราได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘รศ.ดร. วิศณุ ทรัพย์สมพล’ รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่บริเวณสามย่านให้เป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ เราถึงรู้ว่า ‘การสร้างเมืองจริงๆ’ นั้นเป็นอย่างไร
| PMCU กับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองจุฬาฯ
สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) คือหน่วยงานหนึ่งที่มีหน้าที่ในการบริหารและจัดการเขตพื้นที่พาณิชย์ย่านสยามสแควร์ และสวนหลวง-สามย่าน กว่า 385 ไร่ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือถ้าเทียบกับในเกมซิตี้: สกายไลน์ ก็คงเป็นตำแหน่งนายกเทศมนตรีนั่นเอง
PMCU ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการพื้นที่ด้วยความสร้างสรรค์ เพื่อให้เป็นพื้นที่เชื่อมโยงโอกาสสำหรับทุกชีวิต ผ่านแนวคิด ‘Co-Creating Shared Values’ เพื่อพัฒนาคุณค่าทั้ง 3 ด้านไปพร้อมๆ กัน ได้แก่ Learning Style สร้างพื้นที่เพื่อการเรียนรู้แก่ทุกคน Living Style จัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยให้หลากหลาย และ Life Style การสร้างเมืองที่ดีจะต้องมีพื้นที่สันทนาการ
ท่านรองวิศณุ ยังกล่าวเพิ่มอีกว่า “เมื่อก่อนเวลาพูดถึงสำนักงานจัดการทรัพย์สิน คนข้างนอกก็มักจะคิดว่ามีหน้าที่แค่เก็บค่าเช่ากับทวงหนี้เท่านั้น ดังนั้นเมื่อ 4 ที่แล้วเราเริ่มคุยกันใหม่กับคนในองค์กร เพื่อหาวิสัยทัศน์ร่วมกัน เพราะแท้จริงแล้วความต้องการสูงสุดของ PMCU ไม่ได้มาในรูปแบบของตัวเงิน แต่มันคือการใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
| วางผังเมืองดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
ในการสร้างเมืองไม่ว่าจะในเกมหรือโลกแห่งความเป็นจริง ‘การวางผังเมือง’ คือขั้นตอนที่สำคัญมากๆ เพราะถ้าวางผังเมืองไม่ดีในอนาคตก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น ปัญหารถติด หรือน้ำท่วมขังรอระบาย เป็นต้น
ปัจจุบันจุฬาฯ มีพื้นที่ประมาณ 1,153 ไร่ แบ่งตามการใช้งานเป็น 3 ประเภท คือ เขตพื้นที่การศึกษา 637 ไร่ เขตพื้นที่พาณิชย์ 385 ไร่ และเขตพื้นที่ราชการเช่าใช้ 131 ไร่ โดยในส่วนของพื้นที่พาณิชย์ที่ PMCU เป็นดูแลอยู่ ขณะนี้กำลังพัฒนาอยู่ในโครงการเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ (Chula Smart City)
ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวถูกจัดแบ่งพื้นที่ออกตามศักยภาพของการพัฒนา โดยแบ่งออกเป็น 5 โซน ผ่านแนวคิดระบบอัจฉริยะ 7 ประการ ได้แก่ ระบบการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ระบบการจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ระบบการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) ระบบจัดการสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environmen) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) ระบบเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) ระบบการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) และการจัดแบ่งพื้นที่ทั้งหมด ถูกจัดตามศักยภาพของการพัฒนา โดยแบ่งออกเป็น 5 โซน
| ระบบขนส่งสาธารณะสุดแน่น
ขั้นตอนนี้ถ้าเป็นในเกมก็คือการวางระบบขนส่งสาธารณะภายในเมือง ซึ่งหากระบบขนส่งมีประสิทธิภาพ สะอาด ปลอดภัย มาตรงเวลา ประชาชนที่อยู่ในเมืองก็จะไม่นำรถส่วนตัวมาใช้ อันเป็นสาเหตุของปัญหารถติด และมลพิษนั่นเอง
ซึ่งในแนวคิดการสร้างเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ ผู้นำอย่าง PMCU ก็มีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่หลากหลาย สะดวกสบาย ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาให้นิสิต บุคลากร และคนในพื้นที่เลือกใช้ถึง 6 ทางเลือก ตั้งแต่
CU POP BUS : รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (EV Bus) ที่ให้บริการฟรีตลอดทั้งวัน
Bike Sharing : ระบบจักรยานให้เช่าขี่ในพื้นที่จุฬาฯ
E Scooter Sharing : สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า
Car Sharing : มีบริการรถยนต์ให้เช่าขับไปต่างจังหวัดอีกด้วย โดยใช้งานผ่านแอปฯ ‘CU TOYOTA Ha:mo’ และ ‘HAUP CAR : Car Sharing’
Tuk Tuk Sharing : รถสามล้อไฟฟ้าที่ใช้งานผ่านแอปฯ ‘MuvMi’ อยากไปไหนเรียกได้เลย เสียค่าบริการเริ่มต้น 10 บาทเอง
และล่าสุดเพิ่งเริ่ม PR ไปไม่นาน Car Pool : บริการแชร์รถเดินทางไปด้วยกัน โดยใช้ผ่านแอปฯ ‘Liluna’
| สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต้องมี
สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน คือบริการสาธารณะที่จัดทำเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประชาชนในสิ่งอุปโภคที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เช่น การไฟฟ้า การประปา
“พลังงานอัจฉริยะ ถือเป็นเรื่องที่ดีมากต่อชุมชน ใครจะเชื่อว่าจุฬาฯ สามารถสร้างกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้ถึง 34% ของความต้องการใช้พลังงานสูงสุดจากการที่เราร่วมมือกันกับกฟน.และเอกชน โดยให้เขาเข้ามาติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนอาคารและลานจอดรถในพื้นที่สวนหลวง-สามย่าน แล้วมหาวิทยาลัยค่อยรับซื้อพลังงานกลับมาใช้”
จุฬาฯ ยังร่วมกับการไฟฟ้านครหลวงกำลังทยอยนำสายไฟฟ้าลงดิน คาดว่าจะเสร็จภายในปี พ.ศ. 2564 และในอนาคตจุฬาฯ กำลังพัฒนาระบบน้ำเย็นทดแทนเครื่องปรับอากาศที่จะมาใช้กับตึกใหม่ที่กำลังจะสร้างขึ้นด้วย
| ประชาชนจะต้องมีสิ่งแวดล้อมที่ดี
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า สัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรควรอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งจุฬาฯ มีพื้นที่สีเขียวประมาณ 272,000 ตร.ม. คิดเป็นพื้นที่สีเขียว 6 ตร.ม./คน นอกจากนี้ในพื้นมหาวิทยาลัยยังรักษาต้นไม้ใหญ่ไว้มากกว่า 1,000 ต้น รวมถึงต้นไม้อื่นๆ เพื่อไว้ให้ร่มเงาแก่คนเดินเท้า พร้อมยังทำระบบจัดการน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ด้วย
นอกจากพื้นที่สีเขียว จุฬาฯ ยังสร้างทำ ‘สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ’ ด้วยเทคโนโลยีที่สามารถตรวจสอบสภาพแวดล้อมด้านต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ก่อมลภาวะและรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อมกับเมือง รวมถึงการจัดการด้านขยะที่รวดเร็ว มีศักยภาพ และกระตุ้นให้ชุมชนหันมาสนใจและให้ความสำคัญในการบริหารจัดการขยะในชีวิตประจำวัน
“อีกหนึ่งเป้าหมายของจุฬาฯ คือการจัดการเศษอาหาร (Food waste) ให้ได้ 80% ภายในสิ้นปีหน้า ซึ่งตามอาคารหรือสำนักงานใหญ่นั้นไม่มีปัญหา แต่ที่เป็นปัญหาคือจุฬาฯ ไม่มีจุดรับขยะในพื้นแนวราบแถวย่านสามย่าน-สวนหลวงมากพอ แต่ละจุดห่างกันเกินไปและอยู่ไกลจากร้านค้าทำให้เขาเดินมาทิ้งไม่ไหว จุดนี้แหละคือความท้าทายที่เราต้องจัดการและแก้ปัญหาให้ได้”
| จัดพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์
เมื่อครั้งที่ ‘ลิโด’ ต้องปิดตัวไปทำให้หลายคนใจหายไม่น้อย ถือเป็นวันปิดตำนานโรงภาพยนตร์เก่าแก่ที่ให้บริการผู้คนมานานกว่า 50 ปี ก่อนที่จะ PMCU จะให้ ‘LOVEiS Entertainment’ หรือค่ายเพลง LOVEiS ของคุณจี๊ป เทพอาจ กวินอนันต์ ที่หลายคนรู้จักกันนั่นเอง
“ทุกวันนี้เรามองว่าพื้นที่แห่งการแสดงออกของคนรุ่นใหม่มีน้อยมาก เมื่อได้ลิโด้กลับมา เราจึงต้องการทำให้พื้นที่แห่งนี้ดีขึ้นกว่าเดิม จึงเนรมิตให้ ‘ลิโด้’ กลายเป็นแหล่งรวบรวมศิลปวัฒนธรรม นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์และไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ จนในที่สุดก็ได้จนกลายเป็น LIDO CONNECT ขึ้นมา”
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์อื่นๆ อีกมากมาย ‘ฟ้าใหม่’ (FAAMAI Digital Arts Hub) โดมดิจิทัลอาร์ตขนาดใหญ่ที่จะกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษา เรียนรู้ และทดลองด้านศิลปกรรมดิจิทัลครั้งแรกในประเทศไทยและเอเชีย หรือยังมีโปรเจกต์ ‘สตรีทอาร์ตใจกลางเมือง’ (Chula Art Town) บนพื้นที่สามย่าน-สยามสแควร์ ที่ทางจุฬาฯ เปิดให้ศิลปินกว่า 50 ชีวิตเข้ามาสร้างสรรค์ผลงาน
| ส่งเสริมสตาร์ทอัพรุ่นใหม่
เมื่อพัฒนาเมืองแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ถ้าอยากให้เมืองเดินไปข้างหน้าคือการสร้างเศรษฐกิจให้มั่นคง
“จุฬาฯ คือห้องปฏิบัติการมีชีวิต ที่ให้เหล่าสตาร์ทอัพทั้งหลายเข้ามาใช้พื้นที่ของเราทดลอง อย่างเช่น ‘MuvMi’ ที่เมื่อก่อนก็เป็นรถตุ๊กๆใช้น้ำมันธรรมดา พอชวนเขามาวิ่งที่จุฬาฯ เราก็ให้โจทย์กับเขาว่าต้องเปลี่ยนเป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันบริการรถตุ๊กๆ ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก”
| จุฬาฯเมืองแห่งอนาคต
PMCU ยังจะมีแผนการพัฒนาสยามสแควร์ อยู่ในพื้นที่ของจุฬาฯ ให้เป็น The New Siam Square ช้อปปิ้งสตรีทที่มีความนำสมัย รวมถึงมีโปรเจกต์สร้าง ‘Siamscape’ ตึกอาคารรูปแบบ Mixed use ที่ประกอบไปด้วย พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ อาคารสำนักงานสมัยใหม่ และพื้นที่ร้านค้า รวมถึงยังมีโปรเจกต์ ‘Block 28’ คอมมูนิตี้ มอลล์สำหรับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ที่จะเปิดบริการเร็วๆ นี้
ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเมืองในเกม หรือสร้างเมืองจริงๆ ถ้าผู้นำสามารถบริหารจัดการเมืองได้ดี ประชาชนก็มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่หากเมื่อไรที่สร้างเมืองแบบไม่สนใจประชาชน คนในเมืองก็จะออกมาเรียกร้อง ประท้วงหรือหนีไปอยู่เมืองอื่นแทน