smart
Mobility

First & Last Mile Traveling

พื้นที่สามย่านสมาร์ทซิตี้ ถือเป็นพื้นที่อยู่ใจกลางเมือง และอยู่ใจกลางย่านพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของหลากหลายสถานศึกษา อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า รวมถึงที่พักอาศัยของคนภายในชุมชน ทำให้เกิดการเดินทางภายในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ทั้งการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ เพื่อมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน

ดังนั้นเราจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาการเดินทางในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และคัดสรรเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้เดินทาง ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงทุกจุดในพื้นที่ด้วยการเดินทางที่หลากหลาย ครบทุกความต้องการ ลดรอยต่อกับระบบขนส่งมวลชนหลัก (Seamless Transportation) และรองรับการเดินทางช่วงระยะเริ่มต้นและระยะสุดท้าย (First & Last Mile) และการเดินทางแบบแบ่งปันกันใช้ (Sharing Vehicles) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความสะดวกด้วยการใช้งานและติดตามตำแหน่งของรถผ่าน Application ที่สำคัญในทุกทางเลือกการเดินทางเป็นยานพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาดทั้งหมด

Image
3M
ใช้การขนส่งอย่างยั่งยืน
Image
จุด
จุดชาร์จไฟฟ้า
Image
สถานี
สถานีชาร์จ สำหรับจักรยานไฟฟ้า
Image
คัน
รถพลังงานไฟฟ้า สำหรับผู้บริหาร

First & Last Mile Travelling

การเดินทางด้วยพลังงานสะอาด แบ่งปันกันใช้…ช่วยประหยัด ช่วยโลก

หากเปรียบระบบขนส่งสาธารณะเป็นเส้นเลือดใหญ่ การเดินทางช่วงต่อแรกและต่อสุดท้าย (First & Last Mile) ก็เปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยที่เข้าไปหล่อเลี้ยงพื้นที่ในจุดที่เข้าถึงได้ลำบาก ดังนั้น เราจึงเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลายในพื้นที่ คนในชุมชนยังสามารถเลือกเดินทางได้อย่างหลากหลายทางเลือกตามไลฟ์สไตล์และความต้องการได้ เพื่อช่วยลดรอยต่อกับระบบขนส่งมวลชนหลัก (Seamless Transportation) ให้รองรับการเดินทางช่วงระยะเริ่มต้นและระยะสุดท้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การนั่งรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่สามารถกดเรียกได้ง่าย ๆ ผ่านทางโทรศัพท์มือถือเพียงคลิกเดียว หรือการได้ขี่สกู้ตเตอร์ไฟฟ้าเท่ ๆ ในการเดินทางระหว่างอาคารเรียน

โดยในรูปแบบการเดินทางทั้งหมดนั้น จะเน้นการใช้งานที่สะดวกง่ายดายผ่านแอปพลิเคชั่น อีกทั้งยังเป็นการเดินทางที่ใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยทำให้คนในพื้นที่และคนในชุมชนสามารถลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวได้มากขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น ประหยัดเวลามากขึ้น และยังช่วยให้มลภาวะทางอากาศลดลง การจราจรติดขัดน้อยลง และในที่สุดทำให้คุณภาพชีวิตของทุกคนในชุมชนดีขึ้น ทั้งทางด้านสุขภาพ การบริหารจัดการเวลา และด้านการเงิน จึงเรียกได้ว่า มีประสิทธิภาพสำหรับทุกคนอย่างรอบด้าน

 

MASS TRANSIT NETWORK

การเดินทางมายังพื้นที่สามย่านสมาร์ทซิตี้ สามารถเดินทางได้อย่างง่ายดายผ่านระบบขนส่งมวลชน ทั้งโดยรถไฟฟ้า BTS ทั้ง 2 สาย ผ่านจุดเชื่อมต่อที่สถานีสยามสแควร์และสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีสามย่าน หรือหากจะเดินทางโดยรถประจำทาง ก็สามารถเลือกนั่งได้ถึง 30 สาย จากหลากหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ

  • BTS 2 Lines / MRT / Bus 30 Lines

FIRST & LAST MILE TRAVELING : 5 OPTIONS & WALKABLE CITY

  • EV Shuttle Bus / EV Tuk-Tuk Sharing / EV Car Sharing / E-Scooter Sharing / Bike

CU POP BUS  (EV Shuttle bus)

เนื่องจากที่ตั้งของจุฬาฯนั้นอยู่ใจกลางเมือง ที่เป็นแหล่งรวมสถาบันทางการศึกษา ย่านการค้า รายล้อมไปด้วยสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ที่พักอาศัยมากมาย จึงมีการเดินทางผ่านเข้า-ออกในมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมากตลอดทั้งวัน ดังนั้นระบบขนส่งสาธารณะภายในพื้นที่จึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะช่วยขนส่งผู้เดินทางไปยังอาคารต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนมาก โดยเราได้เปลี่ยนรถประจำทางของจุฬา หรือที่เรียกว่า CU Pop Bus จากเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันมาเป็นการใช้พลังงานจากไฟฟ้าแทน เพื่อลดการปล่อยก๊าซ CO2 และลดการปล่อยฝุ่น PM2.5 ภายในพื้นที่ โดยได้เริ่มทยอยเปลี่ยนเป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2557 จนปัจจุบันรถประจำทางของจุฬาทั้งหมดใช้พลังงานไฟฟ้า 100% แล้ว ซึ่งนอกจากจะเป็นรูปแบบการเดินทางที่ปลอดภัย ไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยลดมลภาวะทางอากาศและลดความต้องการใช้รถส่วนตัวในการเดินทางในพื้นที่ได้อย่างมาก

การเดินทางด้วยรถ CU POP bus นั้นง่ายและมีความสะดวกสบาย ทั้งยังสามารถตรวจสอบตำแหน่งของรถแบบ Real Time ได้ง่ายผ่านแอพลิเคชั่นอีกด้วย ทำให้ผู้เดินทางสามารถวางแผนการเดินทางของตนเองได้ก่อนที่รถจะมาถึงจุดจอดในแต่ละป้าย รวมถึงยังช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนทั่วไปที่อาจไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ได้เดินทางอย่างสะดวกอีกด้วย

จำนวนรถ : 28 คัน
จำนวนเส้นทาง : 6 เส้นทาง
กลุ่มเป้าหมายในการให้บริการ : นิสิต อาจารย์ บุคลากรจุฬา ฯ และประชาชนทั่วไป
เวลาทำการ : ตั้งแต่วันจันทร์ – เสาร์ เวลา 06.30 – 21.30 น. (วันเสาร์ให้บริการเฉพาะสาย 1 และ 2)
ค่าบริการ : ไม่เสียค่าใช้จ่าย

Muvmi ( Ev Tuk-Tuk Sharing)

รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่วิ่งอยู่ทั่วทั้งพื้นที่สามย่านสมาร์ทซิตี้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ MuvMi ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสในการเป็นพื้นที่แห่งการทดลอง (Sandbox) ในการพัฒนาการเดินทางรูปแบบใหม่ให้แก่บริษัท เออร์เบิร์น โมบิลิตี้ เทค จำกัด สตาร์ทอัพไทยรุ่นใหม่ ได้เข้ามาทดลอง ทดสอบ และใช้งานจริงในพื้นที่ของจุฬาฯ ตั้งแต่ปี 2561 โดยเป็นโครงการที่เกิดจากการมองเห็นปัญหา ช่องว่างของการเชื่อมต่อระหว่างขนส่งมวลชนขนาดใหญ่อย่าง BTS และ MRT ที่ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ในตรอกซอกซอย หรือสถานที่ ๆ ไม่ได้อยู่บนถนนเส้นหลักได้ บริการ Muvmi นี้จึงเป็นการผสมผสานระหว่างการใช้แอปพลิเคชันเรียกรถแบบ “On-Demand” คือ เรียกเมื่อไหร่ก็ได้ตามความต้องการ ไม่ต้องรอรอบเวลา ไม่ได้วิ่งตามเส้นทางประจำแบบที่เคยมีอยู่ และรูปแบบ “Sharing” ที่นำระบบเทคโนโลยีทันสมัยมาบริหารจัดการ ให้ผู้ที่จะเรียกรถไปในเส้นทางเดียวกันหรือบริเวณใกล้เคียงกันสามารถขึ้นรถคันเดียวกันได้ จึงทำให้มีราคาที่ไม่แพง เหมาะสมกับค่าครองชีพยุคปัจจุบัน นักเรียนนักศึกษาและคนทำงานสามารถเข้าถึงได้ และยังสะดวกสบายสุด ๆ เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน โดยเฉพาะนิสิต นักศึกษา และบุคลากร ที่ต้องการเดินทางไปมาภายในพื้นที่ในระยะสั้น ๆ ด้วยความรวดเร็ว

นอกจากแอปพลิเคชันแล้ว จุดเด่นอีกด้านของ MuvMi คือ การใช้รถระบบไฟฟ้า 100% ในการให้บริการ รับ-ส่ง ผู้โดยสาร ซึ่งรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าได้เริ่มนำร่องทดลองให้บริการเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม ปี 2561 และได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนถึงในปัจจุบัน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากคนในชุมชนอย่างมาก มีจำนวนการใช้บริการ 250,000 เที่ยวต่อปี หรือประมาณ 700 เที่ยวต่อวัน นอกจากนี้ผู้โดยสารสามารถเดินทางด้วยความมั่นใจในทุกการเดินทาง เพราะ MuvMi ได้ผ่านการวิเคราะห์การชนร่วมกับสถาบันศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) จึงทำให้มั่นใจได้ว่าปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการ รวมถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

จำนวนที่นั่ง / คัน : 6 ที่นั่ง
จำนวนรถ : 30 คัน
กลุ่มเป้าหมายในการให้บริการ : นิสิต อาจารย์ บุคลากรจุฬา ฯ และประชาชนทั่วไป
ค่าบริการ : เริ่มต้นที่ 10 บาท
สถานี จุดจอด : สำหรับพื้นที่บริการจะครอบคลุมภายในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และขยายไปยังพื้นที่โดยรอบ ภายใต้ ย่าน Chula-Samyan
วิธีใช้บริการ : ใช้งานผ่านทางแอปพลิเคชั่น MuvMi

EV Car Sharing

Haupcar รถยนต์ไฟฟ้าให้เช่าแบบแบ่งปันกันใช้ ลดมลภาวะ ลดปัญหาด้านการจราจรในพื้นที่

ผู้ที่ดำเนินชีวิตอยู่ในชุมชนจุฬาฯ นั้น มีตั้งแต่นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร รวมไปถึงประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ภายในพื้นที่ การเดินทางออกไปยังนอกพื้นที่นั้น นอกจากจะใช้บริการรถขนส่งสาธารณะแล้วโดยในปี 2563 จุฬาฯ ได้ร่วมมือกับ ฮ้อปคาร์ (Haupcar) ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพคาร์แชร์ริ่งรายแรกของประเทศไทย ได้นำทางเลือกใหม่ในการเช่ารถในรูปแบบใหม่คือ รถยนต์ให้เช่าแบบแบ่งปันกันใช้ ฉีกกฎเดิม ๆ ของการเช่ารถด้วยการนำเอาเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการให้บริการ ที่สะดวก ง่าย และคล่องตัว สามารถจองรถเช่า ปลดล็อค และชำระเงินได้ง่าย ๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ อีกทั้งยังสามารถจองรถเช่าในระยะเวลาสั้น ๆ เริ่มต้นที่ 30 นาที ทำให้สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้งานรถเช่าอย่างสร้างสรรค์ ทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่สามารถเช่ารถยนต์ในการเดินทางได้อย่างอิสระมากขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย

ในปัจจุบัน มีจำนวนรถให้เช่าภายในพื้นที่ประมาณ 10 คัน กระจายอยู่ตามสถานีจุดต่าง ๆ ทั่วพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัย ในอนาคตมีนโยบายที่จะเพิ่มจำนวนรถที่ให้บริการในพื้นที่ และจะปรับเปลี่ยนเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด การให้บริการรถยนต์ให้เช่าดังกล่าว จึงสามารถมาช่วยตอบโจทย์นโยบายการลดปัญหาด้านการจราจร ปัญหาด้านที่จอดรถที่ไม่เพียงพอ อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดมลภาวะ และลดอัตราการครอบครองรถยนต์ลง ช่วยให้คนรุ่นใหม่ได้ประหยัดและใช้รถได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้นอีกด้วย

จำนวนรถ : 10 คัน
กลุ่มเป้าหมายในการให้บริการ : นิสิต อาจารย์ บุคลากรจุฬา ฯ และประชาชนทั่วไป
เวลาทำการ : ให้บริการทุกวัน 24 ชั่วโมง
ค่าบริการ : รายชม. / รายวัน / รายสัปดาห์ โดยเริ่มต้นการเช่าที่ 30 นาที
วิธีใช้บริการ : ทำการจองรถ ปลดล็อค และชำระเงินผ่านทางแอปพลิเคชั่น Haupcar

สถานีและจุดจอด :

มี 6 สถานี ได้แก่ สถานีจามจุรีสแควร์, สถานี CU Terrace, สถานี I’m Park, สถานี U-Center 2, สถานีสามย่านมิตรทาวน์ และสถานี Stadium One

E-Scooter Sharing

ถ้าเข้ามาในพื้นที่จุฬาฯ ท่านอาจจะได้เห็นนิสิตขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าแบบเท่ ๆ ไปมาระหว่างอาคารเรียนภายในมหาวิทยาลัย นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางที่ทันสมัย ในทีแรกผู้ที่ไม่เคยใช้งานอาจจะยังลังเลว่าขับขี่ยากหรือไม่ แต่พอเมื่อได้ลองแล้วต้องบอกว่านอกจากจะขับง่ายแล้ว ยังให้ความสนุกสนานไม่เบาอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นน้อง ๆ นักเรียน วัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ ก็สามารถขี่ได้ จนทำให้เราเห็นนักเรียนหลาย ๆ คนมาเช่าใช้ขับเล่นอย่างเพลิดเพลิน กลายเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมหลังเลิกเรียนกับเพื่อนๆ ไปด้วยเลย

PMCU ร่วมมือกับ บริษัท บีม โมบิลิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการ e-mobility ที่ใช้ร่วมกันรายใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก ภายใต้ Samyan Smart Mobility เปิดให้บริการ e-scooter อย่างเป็นทางการในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามย่าน และสยาม เป็นอีกหนึ่งการเดินทางที่ยั่งยืนสำหรับนิสิตและผู้มาติดต่อ ภายใต้แอพลิเคชั่นที่ชื่อว่า Beam

มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่เพิ่ม e-scooter ให้เป็นอีกหนึ่งในทางเลือกสำหรับการเดินทางที่ยั่งยืนสำหรับคนในชุมชน เราคิดว่าโปรเจคนี้เข้ามาช่วยเราแก้ปัญหาบางอย่างที่เราพบเจอในอดีตได้ เช่น การขาดทางเลือกในการเดินทางที่ยั่งยืนสำหรับการเดินทางระยะสั้น การรอรถเป็นเวลานานในชั่วโมงที่เร่งด่วน เป็นต้น และเนื่องจากนิสิตสามารถเดินทางจากจุด A ไปจุด B ได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น เราจึงคิดว่าด้วยวิธีนี้จะสามารถช่วยให้นิสิตได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆได้มากขึ้น

นอกจากนี้เรากับ Beam Mobility ยังได้กำลังดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการด้านความปลอดภัย เช่น การจำกัดอายุ การควบคุมความเร็ว เขตห้ามเข้า ประกันผู้ขับขี่ และ Beam Safe Academy ภายในเขตมหาวิทยาลัยเพื่อให้แน่ใจว่านิสิตรู้กฎของการขับขี่และขับขี่ได้อย่างปลอดภัย

จำนวน : 180 คัน
กลุ่มเป้าหมายในการให้บริการ : นิสิต อาจารย์ บุคลากรจุฬา ฯ และประชาชนทั่วไป
ค่าบริการ : นาทีละ 4 บาท (เดือน ต.ค. 65)
สถานี จุดจอด : 40 จุด
วิธีใช้บริการ : ใช้งานผ่านทางแอปพลิเคชั่น Beam

Bike Sharing

Anywheel เอนี่วีล บริการจักรยานสาธารณะจากสิงคโปร์ ใช้บริการง่าย ๆ ด้วย แอปพลิเคชันผ่านสมาร์ทโฟน ที่ผสานเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ซึ่งเป็นการรวมตัวของนวัตกรรมการควบคุมระยะไกลและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (สมาร์ทโฟน) เข้าไว้ด้วยกัน

เอนี่วีลเปิดให้บริการในประเทศไทยตั้งปี 2563 โดยบริษัทได้เริ่มการให้บริการในพื้นที่ตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งตอบโจทย์แผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในรอบพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากจะให้บริการในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว บริษัทยังมุ่งเน้นการให้บริการในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ อีกด้วย โดยทางบริษัทมีเป้าหมายที่จะทำให้ประชาชนทุกช่วงวัย หันมาใช้บริการจักรยานสาธารณะมากขึ้น เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงและลดการสร้างมลภาวะทางอากาศ

ทั้งนี้ เอนี่วีลได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการลดการใช้รถยนต์ภายในมหาวิทยาลัย และหันมาใช้พาหนะทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดมลภาวะทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของรถยนต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน

ปัจจุบัน เอนี่วีลให้บริการจักรยานกว่า 350 คัน พร้อมจุดจอดกว่า 40 สถานีรอบมหาวิทยาลัย ทั้งนี้เอนี่วีลยังมีแผนที่จะขยายจุดจอดให้บริการรวมถึงจักรยานเพื่อรองรับผู้ใช้งานที่มากขึ้นในอนาคต

 

จำนวน : 300 คัน
ค่าบริการ : 10 บาท/30 นาที
สถานี จุดจอด : 40 จุด
วิธีใช้บริการ : ใช้งานผ่านทางแอปพลิเคชั่น Anywheel

LILUNA (Chula Car pool)

เมื่อการเดินทางแบบแบ่งปันกันใช้เริ่มเป็นที่รู้จัก และเป็นที่นิยมในชุมชนชาวจุฬาฯ การสร้างคอมมูนิตี้หนึ่งขึ้นมาเพื่อเป็นแพลตฟอร์มหรือตัวกลางในการเชื่อมโยงการแบ่งปันการเดินทางของชาวจุฬาฯ ในคอนเซ็ปต์ “ทางเดียวกัน ไปด้วยกัน” เพื่อช่วยลดปัญหารถติด ลดปริมาณรถยนต์ที่เข้ามาในพื้นที่ให้น้อยลง และยังช่วยกันประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย โดยเราได้คัดสรรพันธมิตรที่เป็นสตาร์ทอัพคนไทยผู้พัฒนาแอพลิเคชั่นระบบการเดินทางทางเดียวกันไปด้วย (Car Pool) ในชื่อแอพลิเคชั่น Liluna โดยในปี 2563 ได้มีการสร้างกลุ่มปิดโดยเฉพาะสำหรับชุมชนชาวจุฬาฯ สำหรับการเดินทางที่มีต้นทางและปลายทางในบริเวณใกล้เคียงกัน เพื่อจะได้เดินทาง ไป-กลับ ด้วยกันได้ในพื้นที่จุฬาฯ หรือพื้นที่ใกล้เคียงกัน ถือว่าเป็นอีกหนึ่งบริการที่น่าสนใจและได้รับความนิยมอย่างมากอีกด้วย

 

 

เวลาทำการ : ทุกวัน
วิธีใช้บริการ : สมัครเข้าร่วมกลุ่มผ่านทางแอปพลิเคชั่น Liluna

EV Sharing Station

PMCU ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยสถานีชาร์จรถไฟฟ้า 87 หัวชาร์จ ใน SAMYAN SMART CITY ทั่วพื้นที่สยามสแควร์ สวนหลวง-สามย่านตั้งเป้าครบ 200 หัวชาร์จ ภายในปี 2566

นอกจากตัวเลือกในการเดินทางด้วยพลังงานสะอาดที่หลากหลายทั่วทั้งพื้นที่ภายในย่านแล้ว เรายังส่งเสริมการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV – Electric Vehicle) ซึ่งในปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งช่วยลดการปล่อยมลพิษในอากาศ ช่วยลดภาวะเรือนกระจกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 ที่ถูกปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ของรถที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง อีกทั้งนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนได้หันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

PMCU จึงได้มีการกำหนดนโยบายในการติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้าภายในพื้นที่ โดยติดตั้งสถานีแห่งแรกเมื่อปี 2562 ณ อาคารจามจุรีสแควร์ มีจำนวน 3 หัวชาร์จ เปิดให้ใช้บริการอย่างเป็นทางการไปแล้ว และในปี 2564 ได้ติดตั้งเพิ่มเติมอีก 3 หัวชาร์จ ที่ CU Terrace และลานจอดรถหมอน 28 เพื่อรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV Car) โดยในปัจจุบันมีจำนวนรวมทั้งหมด 27 สถานี 87 หัวชาร์จ และคาดว่าจะมีจำนวนสถานีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าที่สัญจรเข้ามาภายในพื้นที่ ที่จะเพิ่มปริมาณขึ้นในอนาคต

 

จำนวนสถานี : 27 สถานี 87 หัวชาร์จ
วิธีใช้บริการ : ใช้งานชาร์จรถผ่านทางแอพลิเคชั่นของแต่ละสถานีชาร์จ